ขบวนการสหกรณ์กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
การพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศไทยจำเป็นต้องถือการพัฒนาการเกษตรเป็นหลักทั้งนี้เพราะการเกษตรเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจของชาติ ประชากรประมาณร้อยละ 80 ยึดถืออาชีพทางเกษตรกรรม โดยสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่มีบทบาทในการพัฒนาอย่างยิ่งก็คือ สถาบันสหกรณ์

การสหกรณ์ที่จัดในประเทศไทยนั้น มีลักษณะแตกต่างกับการสหกรณ์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การริเริ่ม การจัดตั้ง ตลอดจนการหาเงินมาลงทุน มาจากประชาชนแทบทั้งสิ้น ส่วนรัฐบาลเป็นผู้รับภาระในการตรากฎหมายว่าด้วยการสหกรณ์ขึ้น เพื่อให้ สหกรณ์ปฏิบัติให้ถูกต้องและคอยระมัดระวังมิให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ ทุนที่ใช้ในการจัดตั้งสหกรณ์ สหกรณ์เป็นผู้จัดหาเอง โดยติดต่อกับธนาคารในท้องที่ หรือธนาคารกลางที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ในประเทศที่พลเมืองได้รับการศึกษาเบื้องต้นสูงพอ และเข้าใจวิธีการสหกรณ์ ประกอบทั้งมีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน ความเจริญก้าวหน้าของงสหกรณ์ย่อมดำเนินไปได้ไกล และกระจายออกไปตามท้องที่ต่างๆ เป็นการช่วยเหลือสมาชิกในการประกอบอาชีพให้เป็นปึกแผ่นโดยรวดเร็ว สหกรณ์เหล่านั้นจึงตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคง

ส่วนการสหกรณ์ในประเทศไทยนั้น การริเริ่มมาจากรัฐบาลซึ่งต้องจัดทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง จนกว่าจะเกิดเป็นรูปสหกรณ์ขึ้น และมีเจ้าพนักงานคอยควบคุมช่วยเหลือสหกรณ์ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และระเบียบข้อบังคับการหาทุนมาให้สหกรณ์ใช้จ่ายตกเป็นภาระของ รัฐบาล ค่าใช้จ่ายในการควบคุมดูแล รัฐบาลเป็นผู้ออกทั้งสิ้น เงินทุนที่สหกรณ์ทุกรูปใช้อยู่มีจำนวนประมาณ 320 ล้านบาท ตามโครงการ 3-6 ปี จะใช้ทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย แต่จะต้องเฝ้าดูผลของงานที่จะกระทำในระยะ 2 ปีแรกไปก่อนว่า จะรุดหน้าไปได้แค่ไหน และผลที่ได้นั้นจะมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ และจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเพียงใด