2. ทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน (Common Property Resources)
ทฤษฎีตลาดแข่งขันเสรีหรือตลาดแข่งขันสมบูรณ์ตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค (Neoclassic) นั้น ได้เน้นที่ว่าความไม่มีประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรนั้นมาจากความยุ่งยากในการจัดการของตลาดเสรี หรือความไม่สมบูรณ์ไม่ชัดเจนในระบบกรรมสิทธิ์
เนื่องจากในระบบตลาดเสรีหรือตลาดแข่งขันสมบูรณ์นั้น จะสามารถระบุกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้อย่างแน่ชัด โดยการระบุกรรมสิทธิในทรัพย์สินอย่างชัดเจนนั้นจะ มีลักษณะเงื่อนไข 4 ประการ คือ
1.การกำหนดเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป (Universality)
ว่าทรัพยากรหรือทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นของผู้ใด (Privately owned) หรือหลักฐานแสดงความครอบครอง
2. การมีสิทธิ์โดยเด็ดขาด (Exclusivity) หรือเป็นกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของผู้ใดผู้หนึ่ง โดยจะมีผู้อื่นล่วงละเมิดหรือบุกรุกมิได้
3. การมีสิทธิ์โอนเปลี่ยนมือได้ (Transferalility) เจ้าของทรัพย์สินหรือทรัพยากรสามารถที่จะขายหรือโอนเปลี่ยนจากผู้เป็นเจ้าของเดิมไปยังเจ้าของใหม่ได้โดยการแลกเปลี่ยนอย่างสมัครใจ
4. การมีสิทธิเติมที่ในการใช้ประโยชน์ (Enforceability) และ ปกป้องผลประโยชน์ และได้รับความคุ้มครองจากการบุกรุก โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือโดยรัฐ
ภายใต้เงื่อนไขลักษณะของการระบุกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจนนี้ จะทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรมีแรงจู งใจในการอนุรักษ์หรือใช้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น โดยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรจะเลือกใช้เทคโนโลยี ระดับการลงทุน หรือผลผลิตที่จะก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดจากการใช้ทรัพยากร
ดังนั้น ถ้าภายใต้เงื่อนไขการระบุหรือกำหนดกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจนนี้ไม่สามารถทำได้ มันจึงก่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือที่เรียกว่า ตลาดล้มเหลวในการจัดสรรทรัพยากรนั่นเอง ในที่นี้จะกล่าวถึงระบบตลาดล้มเหลวที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน (Common property resource)
ทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน คือ ทรัพยากรที่เป็นของสาธารณะที่บุคคลใด ๆ สามารถเข้าไปใช้ได้อย่างเสรี กล่าวคือ บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือใครก็ตามที่มาก่อนก็สามารถได้รับผลประโยชน์ก่อน อาจเป็นลักษณะที่จะตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ถึงขั้นที่ไม่เหลือไว้ใช้ในวันข้างหน้าหรือในอนาคตเลย ดังนั้น การใช้ทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกันนี้ ตามแนวคิดของกลุ่มนีโอคลาสสิค กล่าวว่าเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ก่อให้เกิดค่าเช่าของความหายากของทรัพยากร (Scarcity rent) หรือการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพนั่นเอง