returnnext
แบบจำลองเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
 
3. ทรัพยากรที่เป็นสินค้าสาธารณะ (Public goods)

            ทรัพยากรที่เป็นสินค้าสาธารณะ มี 2 ลักษณะ กล่าวคือ 1)เป็นสินค้าที่ไม่แบ่งปันในการบริโภคได้ (Nonrival in consumption) 2 ) เป็นสินค้าที่ไม่สามารถกีดกันในการบริโภคได้ (Nonexcludability)

            การที่สินค้าไม่แบ่งปันในการบริโภค (Nonrival in consumption) หมายถึง การบริโภคสินค้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น ไม่ได้ทำให้ปริมาณสินค้าในการบริโภคของบุคคลอื่นลดลง ทั้งนี้ ต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal cost) ของการจัดหาสินค้าให้แก่ผ ู ้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเท่ากับศูนย์ ตัวอย่างเช่น สินค้าที่เป็นคลื่นทีวีของไทยทีวีสีช่อง 3 ถ้านาย ก. ดูรายการทีวีละครของช่อง 3 นี้อยู่ กิจกรรมของนาย ก. ก็ไม่ได้รบกวนรายการทีวีละครเรื่องเดียวกันของนาย ข. หรือคนดูคนอื่น ๆ ดังนั้น สินค้าสาธารณะที่ไม่แบ่งปันการบริโภคนี้ จะแตกต่างจากสินค้าเอกชน (Private goods) เพราะสินค้าเอกชนจะมีลักษณะการแบ่งปันการบริโภค กล่าวคือ การบริโภคสินค้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะทำให้ปริมาณสินค้าในการบริโภคของบุคคลอื่นลดลง

              การเป็นสินค้าที่ไม่สามารถกีดกันในการบริโภคได้ (Nonexcludability) หมายถึง การบริโภคสินค้าที่ผู้บริโภคทุกคนสามารถใช้สินค้านั้นได้ โดยการบริโภคของบุคคลหนึ่งไม่สามารถกีดกันการบริโภคของบุคคลอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น แสงไฟจากประภาคาร เรือลำหนึ่งเข้ามาในน่านน้ำสามารถเห็นแสงไฟจากประภาคารนั้นได้ แต่ไม่สามารถกีดกันเรือลำอื่นไม่ให้เห็นไฟจากประภาคารได้

              สินค้าสาธารณะ ถ้ามีลักษณะทั้ง 2 ประการ คือ เป็นสินค้าที่ไม่แบ่งปันการบริโภคและเป็นสินค้าที่ไม่สามารถกีดกันในการบริโภคได้ จะเรียกว่า เป็นสินค้าสาธารณะแบบแท้จริง (Pure public goods) และมีต้นทุนส่วนเพิ่มของการใช้สินค้าเท่ากับศูนย์ แต่สินค้าสาธารณะบางอย่างอาจมีลักษณะที่ไม่แบ่งปันการบริโภค แต่สามารถกีดกันได้ หรือเป็นสินค้าสาธารณะที่มีลักษณะแบ่งปันการบริโภค แต่ไม่สามารถกีดกันการบริโภคได้

               สำหรับการพิจารณาถึงระดับความแตกต่างในประสิทธิภาพในการจัดสรรสินค้าสาธารณะกับสินค้าเอกชนนั้น จะพิจารณาได้อย่างชัดเจนในภาพที่ 4 ที่ว่าสินค้าสาธารณะนั้นจะมีอุปสงค์มวลรวม (Aggregate demand) ที่เป็นผลรวมของอุปสงค์ของผู้บริโภคแต่ละคนในแนวตั้ง (Vertical summation) ขณะที่สินค้าเอกชนนั้นจะมีอุปสงค์มวลรวม (Aggregate demand) ที่เป็นผลรวมของอุปสงค์ของผู้บริโภคแต่ละคนในแนวนอน (Horizontal summation) ในสินค้าสาธารณะ ปริมาณการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคแต่ละคนจะเป็นปริมาณที่เท่ากัน ขณะที่สินค้าเอกชนปริมาณการบริโภคสินค้าจะแตกต่างกันไปของผู้บริโภคแต่ละคน


 
 

           

ภาพที่ 4
ทรัพยากรที่เป็นสินค้าสาธารณะ สินค้าทั่วไป และปัญหาของผู้บริโภคที่ไม่จ่ายเงิน

ดัดแปลงจาก : Michael P.Todaro "Economic Development" ภาพที่ 11.4 หน้า 426, 2000
 

                ภาพที่ 4 ( a) แสดงถึงปัญหาในระบบราคาของสินค ้ าสาธารณะ ณ จุด Q* เป็นปริมาณสินค้าสาธารณะของสังคม ที่ถูกกำหนดจากจุดตัดของเส้นอุปสงค์มวลรวมที่เป็นผลรวมของเส้นอุปสงค์ของผู้บริโภคในแนวตั้ง (ผู้บริโภค A และ B ) กับ เส้นอุปทาน ( เส้นต้นทุนส่วนเพิ่ม: MC) ณ จุด Q* นี้ ผู้บริโภคทั้ง A และ B ใช้สินค้าร่วมกันในเวลาเดียวกัน  

                อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาของผู้บริโภคโดยไม่จ่ายเงิน (Free rider) ถ้าพิจารณาในตลาดแข่งขันเสรี (Free market) การบริโภคจะไม่ไปสู่จุด Q* (Optimal quantity) เนื่องจากว่าผู้บริโภคแต่ละคนจะสามารถกำหนดปริมาณความต้องการการบริโภคตามผลประโยชน์ของตนเองที่จะเกิดขึ้นของแต่ละคน ณ ราคา P M ในตลาดเสรีนั้น นาย B จะพอใจบริโภคที่ Q B ขณะที่ก็ไม่สามารถกีดกันนาย A ที่ต้องการบริโภคที่ Q A (Q A <Q B ) ดังนั้น นาย A สามารถที่จะบริโภคโดยไม่จ่ายเงินบนเงินช่วยเหลือจากนาย B ก็ได้ เพราะตลาดผลิตสินค้า ณ จุดเหมาะสมที่ Q B ดังนั้น ถ้าจะให้การจัดสรรปริมาณสินค้าสาธารณะมีประสิทธิภาพแก้ปัญหา ของผู้บริโภคโดยไม่จ่ายเงิน (Free rider) รัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการ โดยการที่จะให้ปริมาณสินค้าอยู่ที่จุดที่เหมาะสม Q* นั้น นาย A ก็ควรจะต้องจ่ายเงินเพื่อการบริโภคที่ระดับ P A x Q* และนาย B ก็ควรจะต้องจ่ายเงินเพื่อการบริโภคที่ระดับ PB x Q* ซึ่ง ผลรวมทั้งหมดของเงินที่ต้องจ่าย เพื่อการบริโภคสินค้าสาธารณะ จะเท่ากับ P M x Q* นั่นเอง